ภาษาใต้ แบ่งแยกออกเป็น กลุ่มๆ ดังนี้
- ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก ได้แก่ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดกันมากทางฝั่งตะวันออกของปักษ์ใต้
บริเวณจังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง
สงขลา ปัตตานี (อำเภอโคกโพธิ์, อำเภอแม่ลาน,
อำเภอหนองจิก และ อำเภอเมือง) ตรัง
สตูล (และในรัฐปะลิส-หมู่บ้านควนขนุน
บ้านตาน้ำ ,ในรัฐเคดาห์-บ้านทางควาย
บ้านบาลิ่ง) ภาษาไทยถิ่นใต้ที่ใช้ในกลุ่มนี้
จะมีลักษณะของภาษาที่คล้ายคลึงกัน (ตรัง
และสตูล แม้จะตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันตก
แต่สำเนียงภาษา ถือเป็นกลุ่มเดียวกับพัทลุง
สงขลา นครศรีธรรมราช คือ ออกเสียงตัวสะกด
ก.ไก่ ได้ชัดเจน)
- ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันตก ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่
พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี และชุมพร
ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดเหล่านี้
จะมีลักษณะเด่นที่คล้ายคลึงกัน เช่นออกเสียงคำว่า
แตก เป็น แตะ ดอกไม้ เป็น เดาะไม้ สามแยก
เป็น สามแยะ ฯลฯ (สำเนียงนครศรีธรรมราช
กลุ่มฉวาง พิปูน ทุ่งใหญ่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาหลวง
ก็อยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนจังหวัดชุมพร
และจังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้จะตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันออก
แต่สำเนียงภาษาถือเป็นกลุ่มเดียวกับจังหวัดพังงา
จังหวัดภูเก็ต คือ ออกเสียงตัวสะกด
ก.ไก่ ไม่ได้)
- ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงสงขลา ได้แก่
ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดสงขลา
บางส่วนของจังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา
- ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงเจ๊ะเห ได้แก่
ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
จังหวัดปัตตานี(เฉพาะ อำเภอยะหริ่ง
อำเภอปะนาเระ และอำเภอสายบุรี) รวมทั้งในเขตรัฐกลันตันของมาเลเซีย
ในหมู่บ้านที่พูดภาษาไทย จะใช้ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงเจ๊ะเห
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีกหนึ่งภาษาคือภาษาถิ่นพิเทน
ซึ่งพูดกันในตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง
และตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานีเท่านั้น
ในเขตจังหวัดนราธิวาส เนื่องมีคนในจังหวัดอื่นๆ
มาอาศัยหรือทำงานในจังหวัดนราธิวาส
จึงนำภาษาไทยถิ่นใต้ของแต่ละจังหวัดมาพูดกันในจังหวัดนราธิวาส
ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยถิ่นใต้จากจังหวัดพัทลุง
สงขลา นครศรีธรรมราช คนนราธิวาส จึงมีภาษาไทย
2 สำเนียง คือ ภาษาไทยถิ่นใต้ สำเนียง
เจ๊ะเห และสำเนียงภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก
ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียง เจะเห มักพูดกันในกลุ่มเครือญาติ
หรือตามชนบทของนราธิวาส แต่ในเมืองมักจะพูดสำเนียงภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก |